“ บ้าน ” คำที่เรียบง่ายคำเดียว แต่เวลาพูดถึงคำนี้ แต่ละคนอาจจะมีภาพ“บ้าน”ในจินตนาการที่ไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ในวันนี้บ้านสวยทั่วโลกจะพาเพื่อนๆมาพบกับนิยามคำว่า “ บ้าน ” ของคู่สามี ภรรยา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่มีไลฟ์สไตล์ทุ่มเทให้กับการทำงาน และกิจกรรมที่พวกเขาชื่นชอบ
สถาปนิก : Ruangrona
ที่ตั้ง : Mekarwangi, Bojongloa Kidul, Bandung City, West Java, Indonesia
พื้นที่ : 230 ตร.ม.
สร้างเสร็จปี : 2020
ถ่ายภาพโดย : KIE
เรื่อง : youkubbaan
บ้านของพวกเขาตั้งอยู่ในเมืองบันดุง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของจังหวัดชวาตะวันตก โจทย์ที่พวกเขาให้กับทีมสถาปนิกก็คือ อยากได้บ้านที่ไม่ต้องเสียเวลาดูแลมาก และต้องอยู่สบาย เป็นส่วนตัว
ทำเลที่ตั้งของบ้านหลังนี้ อยู่ในย่านพักอาศัยที่ค่อนข้างหนาแน่น และเนื่องด้วยขนาดที่ดินที่ค่อนข้างจำกัด และผนังด้านข้างทั้งสองด้านที่ถูกขนาบด้วยเพื่อนบ้าน สถาปนิกจึงแก้โจทย์ด้วยการวางพื้นที่ใช้สอยต่างๆให้กระชับ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน และสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นภายใน เพื่อให้ภายในบ้านได้รับแสงธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องเปิดรับแสงจากทางด้านหน้า สร้างความเป็นส่วนตัว ตามที่เจ้าของบ้านต้องการ
เมื่อไม่จำเป็นต้องเปิดรับแสงจากด้านหน้า สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบ facade ด้านหน้าให้ดูทึบตัน มีช่องเปิดน้อยที่สุด เมื่อมองจากภายนอก จะให้ความรู้สึกว่าบ้านหลังนี้ดูปิดทึบ และภายในต้องมืดแน่ๆ แต่เมื่อก้าวผ่านประตูเข้ามาเท่านั้น เราจะพบกับพื้นที่สวนที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุม ซึ่งทำให้ภายในบ้านดูโปร่ง และสว่าง นอกจากพื้นที่ส่วนกลางแล้ว ตำแหน่งห้องต่างๆที่ถูกจัดวางไว้รอบๆสวนนี้ก็สามารถได้ประโยชน์ด้วย
สถาปนิกยังเพิ่มลูกเล่นให้กับ facade ด้านหน้า ด้วยการทำช่องเปิดบริเวณบันไดทางขึ้นชั้นสองด้วยกระจกใสตลอดความสูงของโถงบันได และออกแบบระแนงไม้บังตาอีกชั้นหนึ่งที่ด้านนอก เพื่อให้บริเวณนี้ได้รับแสงธรรมชาติโดยตรง แต่ยังคงมีความเป็นส่วนตัว
ที่ชั้นสอง ยังมีลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งที่สถาปนิกใส่ไว้ได้อย่างลงตัว คือ บริเวณระเบียงที่ออกมาจากห้องนอน ซึ่งจากระเบียงนี้ เราสามารถมองลงมายังพื้นที่สวนด้านล่างได้ สถาปนิกเลือกใช้บล็อคช่องลม มาก่อเป็นผนังของระเบียงด้านที่ติดกับทางหน้าบ้าน ซึ่งทำให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามายังบริเวณสวนตรงกลางบ้าน และห้องต่างๆที่อยู่รอบๆได้อีกด้วย โดยที่ไม่ทำลายความเป็นส่วนตัว
สิ่งที่ผู้เขียนชอบเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ก็คือ บ้านหลังนี้ได้สะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านออกมาได้อย่างชัดเจน พอดิบพอดี และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแบบของพวกเขาจริงๆ ไม่ใช่เพื่อโชว์คนอื่น แต่เพื่อการอยู่อาศัยจริงๆ ซึ่งนับว่า “บ้าน” ได้บรรลุหน้าที่ของมันแล้วอย่างแท้จริง