วันนี้บ้านสวยทั่วโลก จะพาเพื่อนๆมาชม บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ บนคาบสมุทร Bjäre ทางตะวันตกของประเทศสวีเดน บ้านหลังนี้เป็นบ้าน1ชั้นครึ่ง (ชั้นบนเป็นห้องใต้หลังคา) ตัว บ้านและสวน ถูกออกแบบมาให้สอดประสานกันเป็นอย่างดี ซึ่งมีพระเอกรูปหล่อเป็นต้นเชอร์รี่ต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสวยงาม ชวนมอง
ที่ตั้ง : ประเทศสวีเดน
สถาปนิก : Maka Arkitektur
ภาพถ่าย : Åke E:son Lindman
เรื่อง : youkubbaan
โจทย์ของเจ้าของบ้าน คือ บ้านหลังนี้จะต้องรองรับครอบครัวของเขาที่ประกอบไปด้วยคนถึง 3 รุ่น สถาปนิกจึงจัดการแก้โจทย์ด้วยการวางผังของบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย และจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้คุ้มค่าที่สุดภายในที่ดินขนาด 125 ตารางวานี้ และยังมีพื้นที่สวนภายนอก สำหรับทำกิจกรรมต่างๆของครอบครัวอีกด้วย
ตัวบ้านนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกจะมีผังเป็นรูปตัวแอล ประกอบไปด้วยส่วนนั่งเล่น ทานข้าว ครัว และห้องนอนอีก 3 ห้อง ส่วนที่สองนั้นเป็นส่วนรับรองแขก ซึ่งออกแบบให้เป็นอาคารแยกออกไปเพื่อความเป็นส่วนตัวของแขกผู้มาเยือน
การวางตำแหน่งของตัว บ้านและสวน ที่อยู่ตรงกลางแบบนี้ ทำให้ไม่ว่าจะมองจากส่วนไหนของบ้าน ก็สามารถเห็นสวนนี้ได้ และนอกจากความสวยงามแล้ว ตัวสวนนี้ยังช่วยเป็นเกราะกำบังกระแสลมแรงที่พัดมาจากชายฝั่ง ผ่านหมู่บ้านชาวประมงขึ้นมา และในฤดูร้อน ยังได้เจ้าต้นเชอร์รี่ ช่วยบังแดดให้อีกด้วย
จากทางเข้า เราจะเห็นผนังสีขาวเรียบทึบทรงจั่ว มีช่องเปิดเพียงช่องเดียวซึ่งเป็นประตูทางเข้าบ้าน เมื่อผ่านประตูเข้ามา จะพบกับพื้นที่ส่วนกลางที่ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น ทานข้าว และครัว ซึ่งโอบล้อมสวนตรงกลางไว้ สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้ผนังด้านที่หันเข้าหาสวนนี้ เป็นประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน
ใกล้ๆกับประตูทางเข้าบ้านนี้ จะมีบันไดนำไปสู่ชั้นบน เมื่อขึ้นมาจะพบกับประตูที่เปิดออกไปยังดาดฟ้า ซึ่งเป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ของหมู่บ้าน และยังมองเห็นมหาสมุทรที่อยู่ไกลออกไปได้อีกด้วย บนชั้นสองนี้จะมีห้องนอนอีก 2 ห้อง ซึ่งถูกวางไว้คนละฝั่งของตัวบ้าน และเชื่อมกันด้วยบริเวณพักผ่อนที่เจาะพื้นบางส่วนให้สามารถมองลงมายังบริเวณทานข้าวด้านล่างได้ด้วย
กลยุทธ์ที่สถาปนิกใช้ในการสร้างความน่าสนใจให้บ้านหลังนี้ คือ สร้างความรู้สึกที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงระหว่างภายนอกกับภายใน อธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า จากภายนอกบ้านหลังนี้จะดูปิดทึบเห็นเป็นแค่ บ้านทรงจั่ว ผนังสีขาวที่มีช่องเปิดแค่ประตูทางเข้า แถมยังทำกำแพงและรั้วมาเพื่อบังไม่ให้เห็นสวนด้านในอีกด้วย แต่เมื่อผ่านประตูเข้ามาแล้ว กลับพบว่าภายในนั้นเปิดโล่ง รับลมและแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
และเนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้มีประเพณีดั้งเดิมอันยาวนาน รวมถึงลักษณะบ้านเรือนที่เป็นทรงจั่ว แบบชั้นครึ่งนี้ด้วย สถาปนิกจึงมีความตั้งใจที่จะรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนนี้ไว้ โดยการออกแบบบ้านให้มีลักษณะเป็นทรงจั่วเช่นกัน แต่มีการลดทอนรายละเอียด ให้มีความเรียบง่ายมากขึ้น และจัดวางอาคารให้เหมาะสมกับที่ดิน
สถาปนิกยังมีความพิถีพิถันในการเลือกวัสดุมาใช้ เพื่อให้บ้านหลังนี้ยังคงสะท้อนถึงภูมิหลัง ประเพณี รวมไปถึงเทคนิคการก่อสร้างในท้องถิ่นที่ใช้อิฐ และ หิน ในการสร้างบ้านอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกนำมาใช้ผสมผสานกับเทคนิคสมัยใหม่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นบ้านที่มีกลิ่นอายของอดีต แต่ยังคงร่วมสมัย
สำหรับวัสดุผนังภายนอกนั้น สถาปนิกเลือกใช้ lime stucco ซึ่งเป็นผนังปูนฉาบที่มีพื้นผิวขรุขระ เมื่อรวมกับเส้นสายเฉียบคมดูทันสมัยของหลังคาสังกะสีที่มีดีเทลการเก็บขอบต่างๆด้วยทองแดง และทองเหลืองแล้ว ทำให้โทนสีโดยรวมของตัวบ้านดูอบอุ่นขึ้นมาในทันที
โดยส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ คือ ความพอดิบพอดีในการออกแบบของสถาปนิก ที่ไม่มากเกินไปจนดูเลอะเทอะ และไม่น้อยเกินไปจนดูน่าเบื่อ และที่สำคัญเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง รวมไปถึงไม่ลืมการเคารพต่อบริบท และภูมิหลังของที่ตั้งอีกด้วย