พูดถึงวัสดุมุงหลังคาในปัจจุบันนี้ ก็คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก หลังคาเมทัลชีท เพราะด้วยข้อดีหลายๆประการ เช่น แผ่นยาวต่อเนื่องทำให้ลดปัญหาน้ำรั่วซึม, ใช้ได้กับหลังคาที่มีความลาดชันน้อย (5 องศา ขึ้นไป), น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดค่าโครงสร้าง, ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับวัสดุมุงหลังคาชนิดอื่น, หาซื้อได้ง่าย, หาช่างรับติดตั้งง่าย เป็นต้น ทำให้หลังคาเมทัลชีทเป็นที่นิยมอย่างมาก และถูกนำมาใช้ทั้งสำหรับบ้านพักอาศัย และโครงการต่างๆมากมาย
แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ นอกจากข้อดีนานัปประการที่กล่าวมาแล้ว หลังคาเมทัลชีท ก็มีข้อด้อยอันเลื่องลือเช่นกัน หลักๆเลยก็คือ เรื่องความร้อน และ เสียงดังเวลาฝนตก ซึ่งวันนี้ อยู่กับบ้าน จะมาเล่าให้ฟังถึง 5 วิธีการ ที่จะช่วยลดปัญหาความร้อนจาก หลังคาเมทัลชีท และยังช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องเสียงดัง ลงไปได้อีกด้วย พร้อมแล้วลุยกันเลย!
- หลังคาเมทัลชีท ต้องมีฉนวน PU
โพลียูรีเทน โฟม (Polyurethane Foam) หรือโฟม PU ได้รับการยอมรับว่ามีค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อน (Thermal Conductivity) ต่ำสุดเพียง0.019 kcal/m.h Oc มีคุณสมบัติป้องกันน้ำและความชื้น กันเสียงได้ดี แต่ก็เสื่อมสภาพได้ง่ายหากสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงเกินไป PU มีทั้งแบบแผ่นและแบบพ่น สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม
สำหรับบ้านพักอาศัยที่พื้นที่ไม่เยอะมาก เราแนะนำว่าแบบแผ่นจะสะดวกกว่า เพื่อนๆสามารถหาแผ่นเมทัลชีทที่มีฉนวนPU ติดมาสำเร็จแล้วได้ตามร้านเมทัลชีททั่วไป ยิ่งโฟม PU หนาเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสามารถในการกันความร้อนได้ดียิ่งขึ้น บางเจ้าอาจจะมีการติดอลูมิเนียมฟอยล์ หรือ ไวนิล พีวีซี หรือ เมทัลชีทแบบอลูซิงค์ ที่ด้านล่างอีกชั้นหนึ่งด้วย หรือที่เรียกกันว่า ” หลังคาเมทัลชีทแบบแซนวิช (PU Sandwiches) ” เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม
2. ฝ้าชายคาต้องระบายอากาศได้
นอกจากการกันความร้อนให้เข้าสู่ตัวอาคารน้อยที่สุดแล้ว การระบายความร้อนที่สะสมอยู่ที่ใต้หลังคาให้ออกไปภายนอกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากมีความร้อนสะสมที่ใต้หลังคามาก ความร้อนเหล่านี้จะค่อยๆแผ่ลงมายังห้องด้านล่าง
การเลือกใช้ฝ้าชายคาที่สามารถระบายอากาศได้ จะช่วยให้ลมพัดเข้าออกและพาความร้อนที่สะสมนี้ออกไป เป็นวิธีการลดความร้อนตามธรรมชาติ (passive) ซึ่งจะช่วยลดภาระของเครื่องปรับอากาศ และทำให้ประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย
3. ปูฉนวนใยแก้วที่เหนือฝ้าเพดาน
หากงบประมาณไม่ใช่ปัญหา การปูฉนวนใยแก้วที่เหนือฝ้าเพดาน จะช่วยเป็นปราการอย่างดีอีกชั้นหนึ่ง ไม่ให้ความร้อนจากหลังคาแผ่ลงมายังห้องด้านล่าง
ฉนวนใยแก้ว ผลิตขึ้นมาจากแก้ว ซึ่งเป็นวัตถุดิบภายในประเทศที่มีคุณภาพสูง แล้วลำเลียงเข้าไปในเตาหลอมที่อุณหภูมิสูงจนหลอมละลาย และถูกปั่นเป็นเส้นใยขนาดเล็กที่มีความละเอียดอ่อน ผสมผสานเป็นเนื้อใยแก้วด้วยกาวชนิดพิเศษ เพื่อยึดให้เส้นใยแก้วเกาะติดกัน และลำเลียงสู่ขบวนการอบขึ้นรูป มีจำหน่ายทั้งแบบธรรมดา และแบบมีอลูมิเนียมฟอยล์ ฉนวนใยแก้วมีคุณลักษณะของฉนวนที่ดี ช่วยป้องกันความร้อน และดูดซับเสียงรบกวน แถมยังมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ไม่ติดไฟ และมีอายุการใช้งานยาวนาน
4. วางทิศทางของตัวบ้าน และตำแหน่งช่องเปิดต่างๆให้เหมาะสม
นอกจากความร้อนจะเข้ามาทางหลังคาแล้ว ผนังก็เป็นส่วนสำคัญที่รับความร้อนจากภายนอกและถ่ายเข้าสู่ตัวอาคารเช่นกัน ดังนั้นการจัดวางทิศทางของอาคาร ตำแหน่งห้องต่างๆ รวมถึงช่องเปิด ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับทิศทางแดดลมฝน จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีผลอย่างมากกับการสร้างสภาวะอยู่สบายของบ้าน
ปกติดวงอาทิตย์จะโคจรอ้อมไปทางทิศใต้นาน 8 เดือน คือช่วงเดือนกันยายนถึงเมษายน และอ้อมไปทางทิศเหนือเล็กน้อย 4 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ทำให้ทิศใต้เป็นทิศที่รับแดดมากที่สุด แต่ทิศที่ร้อนที่สุดคือทิศตะวันตก เพราะรับแสงแดดโดยตรงในช่วงบ่ายนั่นเอง
เราจะขอสรุปเป็น guideline สั้นๆ ดังต่อไปนี้
– ทิศเหนือ ได้รับแดดน้อยที่สุด ควรเป็น ห้องนอน ห้องพักผ่อน ห้องนั่งเล่น เปิดช่องเปิดใหญ่ได้
– ทิศตะวันออก ได้รับแดดอ่อนๆช่วงเช้า และแดดจัดช่วงสายๆ ควรเป็น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ขนาดช่องเปิดขึ้นกับบริบท หากมีการปลูกต้นไม้ช่วยบังแดดในช่วงสาย สามารถเปิดช่องเปิดใหญ่ได้เลย
– ทิศใต้ ได้รับแดดเกือบทั้งวัน แต่เป็นทิศที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเข้ามา ดังนั้นจังควรมีช่องเปิดเพื่อรับลม แต่เป็นช่องเปิดขนาดเล็ก เหมาะจะเป็นที่จอดรถ สวน ทางเข้า
– ทิศตะวันตก ร้อนที่สุด รับแดดช่วงบ่ายถึงเย็น ควรเป็นผนังทึบ หรือมีช่องเปิดน้อยที่สุด เหมาะแก่การวางห้องครัว ห้องน้ำ ห้องเก็บของ เพื่อช่วยกันความร้อนให้กับส่วนอื่นๆของบ้าน
5. เลือกหลังคาสีอ่อน ร้อนน้อยกว่า หลังคาสีเข้ม
วัตถุทุกชนิดมีความสามารถในการดูดกลืนพลังงานต่างๆได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองแล้วพบว่า วัตถุที่มีผิวนอกสีดำ ทึบ หรือสีเข้ม จะดูดกลืนความร้อนได้ในระดับสูงกว่า วัตถุสีขาว โปร่ง หรือสีอ่อน นั่นเป็นเพราะว่า สีดำจะดูดกลืนแสงและรังสีความร้อนได้สูงที่สุด โดยไม่มีการผ่านหรือสะท้อนกลับออกไป ต่างจากวัตถุสีอ่อนที่จะดูดกลืนแสงและรังสีบางส่วนเท่านั้น และทำการสะท้อนกลับออกไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า หลังคาสีเข้มจะร้อนมากกว่าหลังคาสีอ่อน
และสุดท้ายนอกจากตัวบ้านเองแล้ว การสร้างสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เหมาะสม ก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการลดความร้อน เช่น การปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงา, การลดพื้นผิวที่สะสมความร้อนอย่างคอนกรีต ,การทำบ่อน้ำ หรืออ่างน้ำพุ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลในการสร้างสภาวะน่าอยู่สบายขึ้นทั้งนั้น
สุดท้ายนี้ ขอให้เพื่อนๆมีความสุขกับการมีบ้าน และ อยู่กับบ้าน ครับ : )